ศิลปะ คืออะไร? ศิลปะเป็นคำที่มีความหมายทั้งกว้างและจำเพาะเจาะจง ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ทัศนะของแต่ละคน แต่ละสมัยที่จะกำหนดแนวความคิดของศิลปะให้แตกกต่างกันออกไป หรือแล้วแต่ว่าจะมีใคร นำคำว่า "ศิลปะ" นี้ไปใช้ในแวดวงที่กว้างหรือจำกัดอย่างไร

คุณค่าและความหมายของศิลปะ

    ศิลปะเป็นคำที่มีความหมายทั้งกว้างและจำเพาะเจาะจง ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ทัศนะของแต่ละคน แต่ละสมัยที่จะกำหนดแนวความคิดของศิลปะให้แตกกต่างกันออกไป   หรือแล้วแต่ว่าจะมีใคร
 นำคำว่า "ศิลปะ" นี้ไปใช้ในแวดวงที่กว้างหรือจำกัดอย่างไร
  ศิลปะ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น

   ในสมัยโบราณ นักปราชญ์ได้ให้ความหมายของศิลปะ (Art) ไว้ว่า ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น
 ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ   เพราะฉะนั้น   ต้นไม้ ภูเขา ทะเล น้ำตก  ความงดงามต่าง  ๆ
 ตามธรรมชาติจึงไม่เป็นศิลปะ  ดอกไม้ที่เห็นว่าสวยสดงดงามนักหนา   ก็ไม่ได้เป็นศิลปะเลย    ถ้าหากเรายึดถือตามความหมายนี้แล้ว      สิ่งที่มนุษย์สร้างสร้างขึ้นทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะ
 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น   ภาพวาด  ภาพพิมพ์  งานปั้น  งานแกะสลัก    เสื้อผ้าอาภรณ์    เครื่องประดับ ที่อยู่อาศัย  ยานพาหนะ  เครื่องใช้สอย  ตลอดจนถึงอาวุธที่ใช้รบราฆ่าฟันกัน ก็ล้วนแต่เป็นศิลปะ
 ทั้งสิ้นไม่ว่ามนุษย์สร้างสิ่งที่ดีงาม เลิศหรูอลังการ   หรือน่าเกลียดน่าชังอย่างไรก็ตาม ล้วนแต่เป็น
 งานศิลปะอย่างนั้นหรือไม่ ?
   ศิลปะเป็นผลงานการสร้างสรรค์
    ในสมัยต่อมา มีผู้ให้ความหมายของศิลปะว่า ศิลปะเป็นผลงานการสร้างสรรค์  ซึ่งในความหมาย
  นี้ เราต้องมาตีความหมายของคำว่า   "การสร้างสรรค์"   กันเสียก่อน   การสร้างสรรค์ หรือที่ภาษา
 อังกฤษเรียกว่า "Cerative" นั้น คือ    การทำให้เกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา    ซึ่งบางสิ่งบางอย่างนั้น

 ไม่เคยมีอยู่มาก่อน ทั้งที่เป็นผลิตผล หรือกระบวนการ  หรือความคิด  ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นงานสร้าง สรรค์ได้จะต้องเป็นประดิษฐ์กรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก   หรือเป็นกระบวนการใหม่ ๆ ที่ สร้างขึ้นมาเพื่อกระทำการบางสิ่งบางอย่างให้ประสบผลสำเร็จ      หรือเป็นการสร้างแนวคิดใหม่ ที่จะนำไปสู่วิธีการใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ  นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ เพราะแนวคิด ใหม่ จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการ หรือวิธีการใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่ผลผลิตหรือประดิษฐ์กรรม ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นมาในโลก และตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ได้  เพื่อแทนที่ผลผลิต หรือประดิษฐ์กรรมเดิม ที่ตอบสนองได้ไม่พอเพียง หรือไม่เป็นที่พอใจ  การสร้างสรรค์ใน อีกความหมายหนึ่งจึงเกิดขึ้น คือ เป็นการทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมีหลาย ๆ วิธี โดยอาจเป็นการปรับ ปรุงกระบวนการใหม่ ให้ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม หรือเป็นการปรับปรุงรูปแบบผลผลิตใหม่ โดยใช้ วิธีการเดิม แต่ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ๆ ก็ตาม เป็นการกระทำให้เกิดขึ้น จากการใช้แนวคิดแบบใหม่ ๆ ทั้งสิ้น และเป็นผลของวิธีการคิดที่เรียกว่า "ความคิดสร้างสรรค์"
     
     ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่ในมนุษย์ทุกคน และสามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้โดยอาศัยสภาพ
แวดล้อมที่เหมาะสมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวย  ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะอย่างแยกกันไม่ออก หรืออาจกล่าวได้ว่า ศิลปะเป็นผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า   ศิลปะเป็นผลจากความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น  สิ่งใดก็ตามที่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็สามารถสร้างงานศิลปะได้    จากตอนต้นที่กล่าวว่า    ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แสดงว่ามนุษย์เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์  และสามารถสร้างงานศิลปะได้ แต่นอกเหนือจากมนุษย์แล้วจะยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกหรือไม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์    จากประวัติศาสตร์ของมนุษย์    และการศึกษา ค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เราจะพบว่าสัตว์โลกหลาย ๆ ชนิดมีความคิด รู้จักความรักและมีสัญชาตญาณ แต่สิ่งเหล่านั้นจะจัดเป็นความคิดสร้างสรรค์หรือไม่  สัตว์ทั้งหลายสามารถสร้างหรือกระทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการได้ดีกว่าเดิมหรือไม่  รู้จักพัฒนาแนวคิด   กระบวนการ และผลผลิตให้ดีกว่าเดิมหรือไม่ ?
        
               หากเราจะเปรียบเทียบย้อนหลังไปเมื่อหลายหมื่น- แสนปีก่อนหน้านี้ เมื่อมนุษย์ยังอยู่

 ในถ้ำ ยังไม่สรวมเสื้อผ้า เก็บผลไม้กินหรือไล่จับสัตว์กินเป็นอาหารซึ่งมีชีวิตไม่ต่างจากสัตว์ทั้งหลาย
 ในทุกวันนี้ แต่ปัจจุบัน มนุษย์มีบ้านอยู่สบาย  มีเครื่องแต่งกายสวยงาม  มีสิ่งอำนวยความสะดวก มาก มาย สามารถไปได้ทั้งบนน้ำ ในน้ำ ในอากาศและอวกาศ  มีเมือง  มีระบบสังคม  มีระเบียบปฏิบัติร่วมกัน มีกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่จะสืบทอดดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป  มีจริยศาสตร์  มีศาสนาและพิธีกรรม มีรูปแบบการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันอย่างหลาหลาย กระจายไปทั่วโลก  ขณะที่สัตว์โลกอื่น ๆ   ยังคงดำรงชีวิตอยู่เดิม ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก  ข้อแตกต่างนี้ บางทีอาจเป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่า  มนุษย์ เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ เพียงหนึ่งเดียวบนโลกนี้  ดังนั้น  ศิลปะจึงเป็นเรื่องของมนุษย์   สร้างขึ้นโดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์เท่านั้น

     จากข้อความข้างต้นที่กล่าวมา เราอาจสรุปได้ว่า  ศิลปะเป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์
 ซึ่งในความหมายเช่นนี้ แสดงว่า สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์คิดค้นกระทำขึ้นมา  ทั้งที่เป็นการกระทำใหม่ ๆ หรือเป็นการกระทำสิ่งต่าง ๆให้ดีขึ้นกว่าเดิมล้วนแต่เป็นงานศิลปะทั้งสิ้น อย่างนั้นหรือไม่ ? ถ้าเป็น อย่างนั้น แนวคิดใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ประดิษฐ์กรรมใหม่ ๆ ความเชื่อใหม่ ๆ  ศาสนาใหม่ ๆ  ตลอดจนถึงการดำรงชีวิตแบบใหม่ อาวุธใหม่ ๆ การสร้างความหายนะให้กับผู้อื่นด้วยวิธีการใหม่ ๆ  ก็เป็น ศิลปะอย่างนั้นหรือ ? การทำลายล้างด้วยอาวุธใหม่ ๆ รวดเร็ว รุนแรง  สร้างความเสียหายใหญ่หลวงจะถูกยกย่องว่าเป็นผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมหรือไม่  ?
    ศิลปะคือความงาม

     เมื่อเราพูดถึง ศิลปะ เรามักจะหมายถึง ความงาม แต่ความงามในที่นี้เป็นเรื่องของคุณค่า (Value) ที่ เป็นคุณค่าทางสุนทรียะ  แตกต่างจากคุณค่าทางเศรษฐกิจ ที่เป็นราคาของวัตถุ  แต่เป็นคุณค่าต่อจิตใจความงามเกิดขึ้นด้วยอารมณ์ มิใช่ด้วยเหตุผล   ความคิด หรือข้อเท็จจริง  คนที่เคร่งครัดต่อเหตุผลหรือ เพ่งเล็งไปที่คุณค่าทางวัตถุจะไม่เห็นความงาม  คนที่มีอารมณ์ละเอียดอ่อนไหว จะสัมผัสความงามได้ง่ายและรับได้มาก   ความงามให้ความยินดี ให้ความพอใจได้ทันทีโดยไม่ต้องมีเหตุผล  ความยินดีนั้นเกิดขึ้นเองโดยไม่มีการบังคับ  ความงามนั้นเกี่ยวข้องกับวัตถุก็จริง  แต่มิได้เริ่มที่วัตถุ  มันเริ่มที่อารมณ์ของคน ดังนั้น ความงามจึงเป็นอารมณ์  เป็นสุขารมณ์หรือเป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความสุน  เป็น1 ใน 3  สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขกับมนุษย์ ซึ่งได้แก่  ความดี  ความงาม  และความจริง ผู้ที่ยอมรับและเห็นในคุณค่าของทั้งสามสิ่งนี้ จะเป็นผู้มีความสุข   เนื่องจากความงามเป็นอารมณ์   เป็นสิ่งที่อยู่ในความรู้สึก นึกคิด ความงามจึงเป็นนามธรรม  ดังนั้น  การสร้างสรรค์งานศิลปะ  ก็เป็นการถ่ายทอดความงามผ่าน สื่อวัสดุต่าง ๆ ออกมา เพื่อให้ผู้อื่นได้สัมผัส ได้พบเห็น  ได้รับรู้    สื่อต่าง ๆ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ชม เกิดอารมณ์ทางความงามที่แตกต่างกันตามค่านิยมของแต่ละบุคคล   ความงามไม่ใช่ศิลปะ เนื่องจากว่า ความงามไม่จำเป็นต้องเกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในธรรมชาติก็มีความงามเช่นกัน เช่น  บรรยากาศ ขณะที่พระอาทิตย์ขึ้น หรือตกดิน  ความสวยงามสดชื่นของดอกไม้  ทิวทัศน์ธรรมชาติต่าง ๆ   เป็นต้น งานศิลปะที่ดีจะให้ความพึงพอใจในความงามแก่ผู้ชมในขั้นแรก      และจะให้ความสะเทือนใจที่คลี่คลายกว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยอารมณ์ทางสุนทรียะของผลงานศิลปะนั้นในขั้นต่อไป     ความงามในงาน ศิลปะออกเป็น 2 ประเภท คือ
   
   1 ความงามทางกาย (Physical Beauty) เป็นความงามของรูปทรง
     ที่กำหนดเรื่องราว หรือเกิดจากการ
ประสานกลมกลืนกัน
     ของทัศนธาตุ เป็นผลจากการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ

   2  ความงามทางใจ (Moral  Beauty) ได้แก่ ความรู้สึก หรืออารมณ์
      ที่แสดงออกมาจากงานศิลปะหรือ
ที่ผู้ชมสัมผัสได้จาก
      งานศิลปะนั้น ๆ
    ในงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ๆ มีความงามทั้ง 2 ประเภทอยู่ร่วมกัน
แต่อาจแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง
มากน้อยขึ้นอยู่กับประเภท
  ของงาน  เจตนาของผู้สร้างและการรับรู้ของผู้ชมด้วย
 
       ความงามในศิลปะ
เป็นการสร้างสรรค์ล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความงามวัตถุในธรรมชาติ  เป็นความงามที่แสดงออกได้
 แม้ในสิ่งที่น่าเกลียด  หัวข้อ  เรื่องราว   หรือเนื้อหาที่ใช้สร้างงานนั้นอาจน่าเกลียด   แต่เมื่อเสร็จแล้ว ก็ยังปรากฎความงาม
  ที่เกิดจากอารมณ์ที่ศิลปินแสดงออก   ดังนั้น ความงามจึงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง
 ที่ว่าด้วยความงามที่ศิลปินแสดงออกในงาน
  ศิลปะ ซึ่งเรียกว่า  "สุนทรียศาสตร์"  มีข้อความที่ใช้กัน
 มาตั้งแต่สมัยเรอเนซองค์จนถึงทุกวันนี้ว่า
  "ศิลปะมิได้จำลองความงาม  แต่สร้างความงามขึ้น"

 
          ดังนั้น  จึงอาจสรุปได้ว่า "ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความ
งาม และความพึงพอใจ"
  
ที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์สืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตอันยาวนานจนถึงปัจจุบัน และจะสร้างสรรค์สืบต่อไปในอนาคตให้อยู่คู่กับเผ่าพันธุ์มนุษย์
ไปตราบนานเท่านาน    โดยมีการ
 สร้างสรรค์ พัฒนารูปแบบต่าง ๆ ออกไปอย่างมากมายไม่มีที่สิ้นสุด

     ศิลปะในความหมายต่าง ๆ
             ศิลปะ แต่เดิมหมายถึง งานช่างฝีมือ เป็นงานที่มนุษย์ใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ขึ้นด้วย ความประณีตวิจิตรบรรจง
ฉะนั้น    งานศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็น
 ผลงานที่มนุษย์ใช้ปัญญา
ความศรัทธา และความพากเพียรพยายามสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่

         คำว่า Art  ตามแนวสากลนั้น มาจากคำ  Arti  และ  Arte  ซึ่งเริ่มใช้ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา
  ความหมายของคำ Arti นั้น หมายถึงกลุ่มช่างฝีมือในศตวรรษที่ 14 , 15 และ 16
คำ Arte  มี
ความหมายถึงฝีมือ ซึ่งรวมถึงความรู้ของการใช้วัสดุของศิลปิน ด้วย เช่นการ การผสมสี
ลงพื้นสำ
หรับการเขียนภาพสีน้ำมัน  หรือการเตรียมและการใช้วัสดุอื่นอีก
การจำกัดความให้แน่นอน
ลงไปว่าศิลปะคืออะไรนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะว่า ศิลปะเป็นงานสร้างสรรค์
ศิลปินมีหน้าที่
 สร้างงานที่มีแนวคิดและรูปแบบแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา   ทฤษฎีศิลปะในสมัยหนึ่งอาจ
 ขัดแย้งกับของอีกสมัยหนึ่งอย่างตรงกันข้าม และทฤษฎีเหล่านั้นก็ล้วนเกิดขึ้นภายหลังผลงานสร้างสรรค์
ที่เปลี่ยนแปลงและก้าวล้ำหน้าไปก่อนแล้วทั้งสิ้น  อย่างไรก็ตาม ทัศนะเกี่ยวกับ
  ความหมายของศิลปะ
ได้ถูกกำหนดตามการรับรู้ และตามแนวคิดต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง  โดย
 บุคคลต่าง ๆ ซึ่งพอยกตัวอย่างได้ดังนี้


….ศิลปะ คือ ผลแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ให้ปรากฏซึ่ง
 สุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือความสะเทือนอารมณ์ ความอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา ประสบการณ์
 รสนิยมและทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ  ความรื่นรมย์  ขนบธรรมเนียม  จารีตประเพณีหรือ
 ความเชื่อทางศาสนา  ( พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, 2530 )


….ศิลปะ คือ ผลงานการสร้างสรรค์รูปลักษณ์แห่งความพึงพอใจขึ้นมา และรูปลักษณ์ก่อให้เกิดอารมณ์
 รู้สึกในความงาม  อารมณ์รู้สึกในความงามนั้นจะเป็นที่พึงพอใจได้ก็ต่อเมื่อ ประสาทสัมผัสของเรา
 ชื่นชมในเอกภาพ หรือความประสมกลมกลืนกันในความสัมพันธ์อันมีระเบียบแบบแผน
 ( Herbert Read, 1959)


….ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์  ความรู้สึก  สติปัญญา  ความคิด และ/ หรือความงาม  
( ชลูด  นิ่มเสมอ, 2534 )


….ศิลปะ เป็นผลงานที่เกิดจากการแสดงออกของอารมณ์ ปัญญา และทัศนคติ  รวมทั้งทักษะความชำนิ ชำนาญของมนุษย์
  การสร้างสรรค์งานศิลปะในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางการสร้างสรรค์ และการ
แสดงออกของอารมณ์และความคิด
ดังนั้น งานศิลปะนั้นอย่างน้อยที่สุดควรก่อให้เกิดอารมณ์ และ
 ความคิดสร้างสรรค์
กล่าวคือ เป็นงานที่สื่อให้ผู้ชมเกิดจินตนาการ นอกจากนั้น งานศิลปะที่ดีควรจะมี
คุณค่าทางความงาม
ซึ่งเกิดจากการใช้องค์ประกอบของสุนทรียภาพ
( วิรัตน์  พิชญ์ไพบูลย, 2524)

 หนังสืออ้างอิง
  ชลูด   นิ่มเสมอ. องค์ประกอบของศิลปะ. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช. 2534
  กิติมา   อมรทัต. ความหมายของศิลปะ. กรุงเทพ ฯ : โรงพิมพ์คุรสภาลาดพร้าว. 2530
  สมเกียรติ   ตั้งนโม. ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างสรรค์. เชียงใหม่ : วารสารศิลปะวิชาการ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1
            คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2543
  สุชาติ    เถาทอง. ศิลปะกับมนุษย์. กรุงเทพ ฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์. 2532
 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น