บทฝึกของการเป็นคนดี พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตะชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้ให้แง่คิดดีๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

บทฝึกของการเป็นคนดี
ใครว่าการเป็นคนดียาก...การเป็นคนดีนั้นไม่ยากเลย...

        บทฝึกของการเป็นคนดี พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตะชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้ให้แง่คิดดีๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
            1. หมั่นเข้าวัดฟังธรรมปรับทิฐิให้ตรง
          วัตถุประสงค์ใหญ่ของการเข้าวัดฟังธรรม คือ
                    1) บุญ บาป มีจริง
                    2) ตายแล้วไม่สูญ ยังมีการเวียนว่ายตายเกิดต่อไป
                    3) นรกสวรรค์มีจริง ทั้ง 3 เรื่องนี้ สรุปย่อๆ สั้นๆ ได้ว่า “กฎแห่งกรรม” มีจริง
          2. หมั่นนั่งสมาธิ ดึงใจกลับมาไว้ในตัว คือ การหมั่นทบทวนตัวเอง จับผิดตัวเราเอง และมุ่งมั่นแก้ไขตัวเองเป็นหลัก
          3. หมั่นวัดใจตัวเอง โดยฝึกหัดเอาใจกลับมาไว้ที่ตัวเองบ่อยๆ ตามวิธีของวัดพระธรรมกาย นั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายจะสอนเสมอว่า “ให้นึกถึงดวงแก้ว หรือองค์พระบ่อยๆ แล้วตรวจสอบดูว่า ใจเราอยู่กับองค์พระ หรือว่าหนีเที่ยวมากกว่ากัน ถ้าหนีเที่ยวมากกว่า ให้รู้เถิดว่าเชื้อพาลของเรายังมีมาก ถ้าใจนึกถึงองค์พระ นึกถึงดวงแก้วได้บ่อยๆ มากกว่า แสดงว่าเรามีเชื้อบัณฑิตอยู่มาก บัณฑิตต้องตั้งใจฝึกฝนตนเอง มากกว่าจับผิดคนอื่น
            4. รักษาใจให้ใส เมื่อเกิดเหตุวุ่นวาย เมื่อน้ำใส มองเห็นกุ้งหอย ปูปลาได้ชัดเจน เพราะฉะนั้นในสังคมที่วุ่นวาย ต้องทำให้ใสเป็นพิเศษ อย่าปล่อยตามกระแส เพราะเมื่อใจขุ่นมัวจะมองเห็นปัญหาไม่ออก เมื่อมองไม่ออก มองโลกไม่เป็นตามความจริง ก็จะตัดสินปัญหาด้วยอารมณ์ ทำให้ปัญหาปานปลายต่อไปไม่สิ้นสุด ดังนั้นจึงต้องรักษาใจใสๆ คือไม่ขุ่นมัวทุกสถานการณ์
            5. ปล่อยวาง ถ้ายังแก้ไขปัญหาไม่ได้ เมื่อใครใจหมองขุ่นมัวตลอดก็จะมุ่งแต่เอาชนะกันทุกกรณี เมื่อทำอะไรผิดพลาดก็จะยิ่งเกิดปัญหาบานปลาย เหมือนเดินวนใต้ทะเล ดังนั้นต้องมองให้ออกก่อนว่าจะต้องทำอย่างไร โดยปล่อยวางก่อน ปล่อยมือจากเชือกที่ผูกมัดหรือการทะเลาะเบาะแว้งกันก่อน จะปลอดภัย เป็นการลดความกระทบกระทั่ง หรือหลีกเลี่ยงการสร้างบาปก่อเวรก่อกรรมได้อย่างนุ่มนวล
            6. จับแง่คิดเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท เวลาทะเลาะกันไม่มีฝ่ายไหนถูก 100% จับแง่คิดให้ดีๆ ทั้งฝ่ายถูกและฝ่ายผิด
            7. ไม่ว่าเหตุร้ายหรือดี ต้องเห็นคุณค่าและขวนขวายสร้างบุญ ครั้งหนึ่งหลานสาวท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีร้องไห้เพราะทำตุ๊กตาแป้งตกแตก คนในบ้านทั้งบ้านปลอบก็ไม่เลิกร้องไห้ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมาถึงพอดีจึงสอบถามว่าหลานสาวร้องไห้ทำไม หลานสาวตอบว่าตุ๊กตาแป้งมันตกแตก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีมีวิธีปลอบใจหลานสาวตามวิธีของพระโสดาบันว่า ร้องไห้ไปทำไม แค่ตุ๊กตาแป้งตกแตก หลานบอกว่ามันเป็นของเธอ ท่านเข้าใจว่านี่ไม่ใช่แค่ตุ๊กตาเสียแล้ว ท่านตอบว่าตุ๊กตาเป็นของหลานสาวเช่นนั้น เราไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ตุ๊กตากัน สรุปว่าหลานสาวของท่านหยุดร้องไห้ แล้วท่านจึงนิมนต์พระ 500 รูป ทำบุญติดต่อกัน 3 เดือน อีกอย่างไม่ว่าอยู่ที่ไหน เวลาใด อย่างไรต้องทำบุญต่อเนื่อง บ้านเมืองของเราเกิดปัญหาทุกวันนี้เพราะบุญหย่อน ต้องรีบเติมบุญ
            8. มีข้อบกพร่องรีบแก้ไข มีข้อดีให้ทำยิ่งขึ้นไป โดยการสำรวจว่า
                    (1) เรายังมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง แล้วรีบแก้ไข
                    (2) เรามีข้อดีอะไรบ้าง รีบพัฒนาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป
          เพราะบัณฑิตมีการพิจารณาแก้ไขตนเองเป็นหลัก ไม่เพ่งโทษใคร มีแต่เพ่งโทษตนเอง และแก้ไขตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป ไม่มีโทษ ไม่มีพิษ ไม่มีภัย แต่คนพาลมีแต่เพ่งโทษผู้อื่น จับผิดผู้อื่นเป็นกำลัง เมื่อเราลดข้อเสียของตนเองได้ เหมือนเราชักฝืนออกจากเตาโลกที่วุ่นวาย ลดกระแสกิเลสและกรรม เป็นการเติมบุญให้ตนเองและเติมบุญให้แก่โลกด้วย
            9. ปฏิบัติตามความดีสากล คือ ฝึกนิสัยมีความรับผิดชอบต่อความสะอาด มีความรับผิดชอบต่อความเป็นระเบียบ มีความรับผิดชอบต่อความสุภาพ มีความรับผิดชอบต่อความตรงเวลา และมีความรับผิดชอบต่อความเป็นสมาธิ
          ความดีสากลต้องเริ่มต้นที่ความสะอาด และต้องรักษากันตลอดชีวิต  เมื่อรักษาความสะอาดได้จะเป็นผลให้สามารถฝึกความเป็นระเบียบ ตรงเวลา และฝึกสมาธิได้ ทำไมต้องรักษาความสะอาด เพราะความสกปรกโสโครก ออกจากตัวมนุษย์ทุกวัน ทุกอนุวินาที พอสกปรกก็ไม่มีระเบียบ รกรุงรังมากขึ้น ตราบใดที่เราอยู่บนโลก ต้องปฏิบัติต่อกันด้วยความสุภาพ และต้องรักษาเวลาให้ดี ถ้าไม่ตรงเวลา ก็จะมีข้ออ้าง มีข้อแก้ตัว โกหก คำพูดพัง ความสุภาพก็พัง แต่กิเลสในใจโตวันโตคืน
          ดังนั้นเราต้องฝึกความดีสากลตลอดชีวิต หนีไม่ได้ ต้องทำเป็นนิสัย พัฒนาเป็นคุณธรรม ศีลธรรม เป็นธรรมะ เป็นบารมีที่ยิ่งๆ ขึ้นไป กลายเป็นบัณฑิตที่มีความชำนาญในการรักษาใจให้ผ่องใสเป็นปกติ ฝังอยู่ในใจข้ามภพข้ามชาติ นี่คือความสำคัญของความดีสากลแต่ละข้อ



          นอกจากนี้ยังมีวิธีฝึกใจให้เป็นคนดี มีด้วยกัน 10 วิธี หรือบุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ
 การสร้างบุญสร้างกุศลหรือสิ่งดีให้เป็นคนดีนั้นมี 10 วิธี (พระธรรมกิตติวงศ์, 2552, 37) ดังนี้
          1. ทาน ทำด้วยการบริจาคทาน เสียสละสิ่งของ เงินทอง ปัจจัย 4 แก่ผู้อื่น ข้อนี้ต้องเป็นคนมีอันจะกินเท่านั้นควรทำ คนหากินไม่ค่อยพอปากพอท้องจะทำก็ทำแต่พอประมาณ ขืนทำมากแบบอึตามช้างจะอดเอา หากว่ายอมอดก็ทำเถิดเป็นบุญแท้
          2. ศีล ทำด้วยการรักษากาย วาจาให้เป็นปกติ การรักษาศีลทุกคนทำได้ อย่าไปทำให้ใครเดือดร้อนด้วยกาย ด้วยวาจา เป็นใช้ได้ ข้อนี้คนมั่งมี คนยากจนทำได้ ผู้ใหญ่เด็กทำได้ ไม่เลือกวัย ไม่ต้องลงทุน เพียงแต่ตั้งใจลงแรงเท่านั้น
            3. ภาวนา ทำด้วยการอบรมจิตและเจริญปัญญา คืออบรมใจตนเองให้สงบ ควบคุมอารมณ์ให้อยู่นิ่ง ให้หยุดคิดฟุ้งซ่าน ฝึกฝนตนเองให้มีปัญญา ให้มีสามัญสำนึก ฝึกคิดรูู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักหน้าที่ จะอ่านหรือดูหรือทำอย่างอื่นก็ได้ ให้เกิดสิ่งที่ว่ามาเป็นภาวนาทั้งสิ้น ข้อนี้ไม่ต้องลงทุน ทำได้ทุกคนเหมือนกัน
          4. อปจายนะ ทำด้วยการนอบน้อมถ่อมตน คือ มีมารยาทงาม เคารพอ่อนน้อม รู้จักที่ต่ำที่สูง ข้อนี้เหมาะสำหรับเด็กและผู้น้อย ทำให้เป็นบุญ และได้รับผลทันตา ไม่เชื่อลองดู
          5. เวยยาวัจจะ ทำด้วยการช่วยเขาทำกิจ คือ มีน้ำใจช่วยเพื่อนฝูง ทำงานทำการที่เป็นเรื่องส่วนรวมด้วยเต็มใจ บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์ ออกแรงยกแบกหามเท่าที่จะช่วยได้ สร้างสาธารณสถาน เช่นที่พักร้อน ศาลา โรงเรียนเป็นต้น ถ้าไม่ทำเอง จะออกเงินให้เขาสร้างก็อนุโลมเข้าข้อนี้ หรือการมีน้ำใจไปเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์สุกดิบกันก็จัดเข้าไปในข้อนี้เหมือนกัน ข้อนี้จะลงทุนก็ได้ ลงแรงก็ได้ เป็นบุญทั้งนั้น
          6. ปัตติทาน ทำด้วยการแบ่งส่วนบุญให้ผู้อื่น คือเมื่อไปทำดีทำบุฯ อะไรมาก็บอกกล่าวเพื่อนฝูงหรือญาติๆ ให้รู้ เขาจะพลอยชื่นชมด้วย เช่น เวลาทำบุญแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว จัดเป็นการแบ่งส่วนบุญให้ผู้อื่น ข้อนี้ทำได้เฉพาะผู้ที่ทำบุญให้มีในตัวเสียก่อนเท่านั้น หากไม่ได้ทำบุญอะไรจะเอาบุญที่ไหนไปยกให้เขา จริงไหม
          7. ปัตตานุโมทนา ทำด้วยการพลอยอนุโมทนาส่วนบุญที่เขาแบ่งให้ คือใครเขาไปทำบุญมาแล้วมาบอกเรา เราก็ยกมือขึ้นว่าสาธุ นั้นแหละถือว่าได้บุญเป็นปัตตานุโมทนา ฟังๆ ดูการทำบุญนี่ง่ายเหลือเกิน แต่ความจริงข้อนี้ทำยาก คือต้องตั้งจิตใจยินดีร่าเริงชื่นชมไปกับเขาด้วย ไม่ใช่สาธุส่งๆ ไป คนเรามักจะพลาดบุญข้อนี้กัน เพราะมักจะ “ไม่อยากเห็นใครเด่นเกิน” หรือไม่อาจทำใจให้ยินดีต่อคนที่ทำความดีและได้รับผลสำเร็จในความดีได้ คือทำใจให้มี “มุทิตา” ไม่ได้นั่นเอง
          8. ธัมมเทสนา ทำด้วยการแสดงธรรม หมายรวมถึงการอบรมสั่งสอนผู้อื่น สอนลูกสอนหลานสอนลูกศิษย์ การพูดอภิปรายหรือวิธีการอื่นที่ทำให้เขาเกิดปัญญา เกิดความสำนึก หรือหวังให้เขาเป็นคนดี เป็นบุญทั้งสิ้น และบุญข้อนี้ ทำได้ทุกวัน ทุกเวลา ทุกสถานที่
            9.  ธัมมัสสวนะ ทำด้วยการฟังธรรม รวมทั้งการฟังบรรยาย ฟังวิทยุโทรทัศน์ อ่านหนังสือ เรียนหนังสือ หรือวิธีก่อเกิดปัญญาอย่างอื่น ก็จัดเป็นบุญ
          10. ทิฎฐุชุกัมม์ ทำด้วยการทำความเห็นให้ตรง ปรับความคิดเห็นให้ถูกต้องตามความจริง ยอมรับความถูกต้อง คือมีปัญญาว่าทำอย่างไรดีไม่ดี ทำอย่างไรเป็นบุญไม่เป็นบุญ รู้ว่าวิธีการทำบุญทั้ง 9 วิธีข้างต้น ถ้าเห็นไม่ตรงหรือไม่เห็นด้วยเสียแล้วก็ทำไม่ได้
          ดังนั้นการทำบุญทำความดี เราทำได้ทุกที่ ไม่เฉพาะในวัด และทำได้หลายอย่าง แต่เรามักไม่ค่อยทราบ เลยไม่สนใจที่จะนำมาใช้ประโยชน์แล้วก็โทษว่า “บุญไม่ช่วย” ดูกระไรอยู่


          สรุปดังจะเห็นได้ว่าการเป็นคนดีนั้นไม่ยากเลย 


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น