คนจะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่ที่ใจของเขา ถ้าใจของเขาคิดดี ก็จะเป็นผลให้พูดดี ทำดี ถ้าใจของเขาคิดชั่ว ก็จะส่งให้พูดชั่วทำชั่ว

วิธีสังเกตว่าเป็นคนดีหรือคนเลว


คนจะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่ที่ใจของเขา ถ้าใจของเขาคิดดี ก็จะเป็นผลให้พูดดี ทำดี ถ้าใจของเขาคิดชั่ว ก็จะส่งให้พูดชั่วทำชั่ว
 โดยทั่วไปแล้ว มีคนบางคนชอบคิดชั่วๆ ตลอดเวลา แต่แสร้งทำเป็นพูดดี ทำดีต่อหน้าคน ถ้าลับหลังระหว่างอยู่ในกลุ่มคนเลวๆ ด้วยกัน เขาก็จะพูดเลว ทำเลว คนประเภทนี้ถ้าคบกันเผินๆ เราก็จะหลงเข้าใจว่าเป็นคนดี

  วิธีสังเกตคนว่าเป็นคนดีหรือคนเลว วิธีง่ายๆ โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัว และเราเองก็ไม่จำเป็นต้องมีฤทธิ์ มีอำนาจวิเศษถึงกับอ่านใจคนได้ คือให้สังเกตดูว่าเท่าที่ผ่านมาคนนั้นมีความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ ผู้มีอุปการคุณ หรือต่อผู้มีคุณคนอื่นๆ หรือเปล่า
  บางคนแม้ว่าเขาอาจจะโง่ไปบ้าง การศึกษาต่ำไปบ้าง สะเพร่าไปบ้าง แม้ที่สุดอาจจะมีนิสัยเกะกะเกเรไปบ้าง แต่ถ้าเขายังดูแลพ่อแม่ ยังรับใช้ครูบาอาจารย์ ไม่ล่วงเกินผู้มีพระคุณให้เสียใจ ก็อย่าไปตั้งข้อรังเกียจเขาเลย เพราะนั่นแสดงว่าธาตุแท้จริงๆ ของเขายังดี ความกตัญญูของเขายังมีอยู่ มีทางฝึกให้เป็นคนดีได้

(หมายความว่า คนเรียนสูง หาใช่จิตใจสูงส่ง 
ผู้ประทุษร้าย ผู้ที่ไม่เคยประทุษร้ายใคร ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่า "คนเลว"
คนเลว มักเห็นคนอื่นได้ดีกว่าไม่ได้ ใครที่มาขัดผลประโยชน์ของตน ย่อมมีวิธีทำให้คนดีๆ ต้องพ่ายแพ้ไป ด้วยวิธีการต่างๆ นานา เช่น การใส่ร้ายป้ายสี ยกความดีใส่ตัว ความชั่วใส่ผู้อื่น เป็นต้น)



  ดังนั้นถ้าจะรับคนประเภทนี้ คือ มีการศึกษาน้อย เอาไปเป็นเพื่อนผู้ร่วมงาน เป็นลูกน้อง เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เขาก็ยังมีแววเอาดีได้พยายามอดทนฝึกฝน ถ่ายทอดนิสัยดีๆ ให้กันไป  
แต่ตรงกันข้ามใครก็ตามถึงแม้จะมีความรู้ความสามารถมีฝีมือเก่งกาจแค่ไหน แต่ไม่รู้ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณของพ่อแม่ คนประเภทนี้เป็นประเภทเลวแท้ เพราะไม่ว่าใครๆ จะทำดีกับเขาอย่างไร ก็ไม่มีทางเกินพ่อแม่เขาได้ ขนาด พ่อแม่เขายังไม่เห็นความดี เขาก็ไม่มีทางเห็นความดีของใครได้ คนอย่างนี้คบด้วยก็อันตราย ไม่ควรเข้าใกล้
  รู้จักหน้า ไม่รู้จักใจ อยากจะรู้ให้ได้ก็ต้องคบ ต้องดูกันไปนานๆ และใช้มาตรฐานคนดีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเครื่องวัด คือคนดี ต้องไม่โง่ (มีปัญญา) ไม่แล้งน้ำใจ (มีกรุณา) และไม่เป็นพิษเป็นภัย (มีความบริสุทธิ์) คุณสมบัติทั้งสามอย่างนี้ คือคุณสมบัติของคนดีตามที่พระพุทธองค์ทรงวางแบบไว้ให้
 กล่าวได้ว่าความหมายของคำว่า "คนดี" เป็นผู้ที่มีปัญญา (ไม่แสบ ไม่โง่) และต้องมีกรุณา (ไม่แล้งน้ำใจ)
          พระพุทธองค์ทรงทรงแสดงลักษณะของคนดี คนชั่วไว้เป็นอันมาก ดังนี้ (สมเด็จพระญาณวโรดม, 2521, 63)

          ลักษณะของคนดี : คุณลักษณะของคนดี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ 7 ประการดังนี้
          1. รู้เหตุ
          2. รู้ผล
          3. รู้จักตนและหน้าที่ของตน
          4. รู้ประมาณในกาลที่ต่างๆ เช่นการพูด การเงิน การนอน การใช้จ่าย เป็นต้น
          5. รู้จักใช้กาลเวลาให้ถูกต้องแก่ภาวะนั้นๆ
          6. รู้จักสังคม เช่น สังคมนี้เป็นอย่างนี้ สังคมนั้นเป็นอย่างนั้น ต้องทำตัวอย่างนั้นๆ เพื่อให้เข้ากับเขาได้ ถ้าเป็นสังคมคนชั่วก็ไม่เกี่ยวข้องเป็นต้น
          7. รู้จักบุคคลว่า คนนี้ควรคบ คนนั้นไม่ควรคบ คนนี้เป็นเทพ คนนั้นเป็นสัตว์ เป็นต้น
          นี้เรียกว่า สัปปุริสธรรม (สัต.อัง)
            นี่คือคุณลักษณะอย่างหนึ่งของคนดี

          ลักษณะของคนชั่ว  : ลักษณะของคนชั่วนั้นตรัสไว้มากดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งยังเป็นส่วนน้อย นอกจากมีลักษณะเช่นเป็นคนชั่ว เพราะคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว (ติก. อัง) แล้วยังมีที่ร้ายแรง คือ
          1. ฆ่าผู้หญิงได้
          2. ชอบเป็นชู้เขา
          3. ประทุษร้ายมิตร
          4. ฆ่าพระได้
          5. ตระหนี่เห็นแก่ตัวจัด(ชา. ขุ.)

          และมีคนที่คนดีเขาไม่อยากคบอีกพวกหนึ่ง คือ
          1. ชอบพูดปด
          2. เย่อหยิ่ง
          3. พูดมาก
          4. ขี้โอ่อวดตัว
          5. ยกตนเอง
          6. มีใจไม่มั่นคง (ฉัก.อัง.)
          ใครไปคบคนเลวเหล่านี้ ย่อมประสบภาวะเป็นต้นว่า
          1. ต้องกลายเป็นนักเลงพนัน
          2. เป็นนักเลงเจ้าชู้
          3. เป็นนักเลงสุรา ติดสิ่งเสพย์ติด
          4. เป็นนักหลอกลวง
          5. เป็นคนเจ้าเล่ห์
          6. เป็นนักเลงอันธพาล (ปาฏิ. ที.) และต้องประสบอันตราย อุปสรรคในชีวิต เป็นต้น

          คนเลวเหล่านี้เลวยิ่งกว่าโจรผู้เที่ยวปล้นเขาเสียอีก โจรนั้น (โจรสมัยพระพุทธเจ้า) ยังมีคติธรรมประจำใจด้วย คือ
          1. ไม่ฆ่าคนที่ยอมแพ้
          2. ไม่ถือเอาของเขาจนหมดสิ้น ยังเหลือไว้บ้าง
          3. ไม่ลักพาหญิง ไม่ทำร้ายหญิง
          4. ไม่ทำร้ายเด็ก
          5. ไม่ปล้นนักบวช
          6. ไม่ปล้นของแผ่นดิน
          7. ไม่ปล้นใกล้บ้านคน
          8. ฉลาดในการจัดเก็บทรัพย์ที่ปล้นได้


          (สมัยนี้เจริญกว่าสมัยก่อนมาก แต่เจริญเฉพาะด้านวัตถุ ส่วนทางด้านจิตใจนั้นยังต่ำกว่าคนแต่ก่อน แม้แต่โจรในปัจจุบันนี้ก็ยังมีโจรธรรมสู้โจรสมัยก่อนไม่ได้)

    ทำอย่างไร จึงจะเป็นคนดี พรุ่งนี้มาต่อนะคะ ^^
    แถมท้ายด้วยความในใจชาวพุทธท่านหนึ่งค่ะ

'คนดีไม่ว่าร้ายกัน'
   
    ช่วงนี้มีข่าวว่าร้ายพุทธศาสนาและพระสงฆ์กันจังเลยครับ ในฐานะราษฎรเต็มขั้นและเป็นชาวพุทธด้วยรู้สึกไม่สบายใจเลยครับ ศาสนาเป็นเรื่องดีงาม อย่าว่าร้ายกันเลยครับ พุทธศาสนานั้นมีคุณมาก ทำให้คนเป็นคนดีได้ 

ใกล้วันมาฆบูชาแล้ว มาทำใจให้อยู่ในธรรมะกันดีกว่านะครับ จิตใจจะได้สงบสบาย ว่าไหมครับ?

 ..."บรรดาสัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อไม่มีทุกข์มาถึงตัว มักไม่เห็นคุณพระศาสนา มัวเมาประมาท ปล่อยกาย ปล่อยใจ ให้ประพฤติทุจริต ผิดศีลธรรมอยู่เป็นประจำนิสัย เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว"...

    ..."ต่อเมื่อได้รับทุกข์เข้า ที่พึ่งอื่นไม่มีนั่นแหละ จึงได้คิดถึงพระ คิดถึงศาสนา แต่ก็เป็นเวลาที่สายไปแล้ว"...
                    ( หลวงปู่แหวน    สุจิณโณ )
   
        พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ ครูบาอาจารย์นั้นมีคุณมาก ให้ความเคารพบูชากราบไหว้ท่านเหล่านี้ ชีวิตเราจะมีความสุขและเจริญรุ่งเรืองได้ง่ายๆ แต่ถ้าทำตรงข้าม ผลก็ตรงข้ามครับ 

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านโชคดีและมีความสุขค่ะ

        จากพี่ไทย  ใจดี ^____________^

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น